วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

ป.ป.ช.สุพรรณดีเดย์กระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. เมษายน 2556



สำนักงาน ป.ป.ช. เริ่มดีเดย์กระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. เดือนเมษายน 2556
                  สำนักงาน ป.ป.ช. จะเริ่มต้นกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ครั้งแรก ๒๐ เมษายนนี้ เริ่มในพื้นที่ ๓๒ จังหวัดก่อน สำหรับครั้งที่สอง จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ จำนวน ๔๔ จังหวัด
                  สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๔๖ วรรคท้าย บัญญัติให้มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด โดยคุณสมบัติ กระบวนการสรรหา และอำนาจหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้  ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด 
                 ในระเบียบดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานให้มี การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ประกอบด้วย ๒ ภารกิจ ดังนี้
              ภารกิจที่ ๑ การดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยให้ผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรในแต่ละจังหวัด รวม ๙ กลุ่มองค์กรหรือหน่วยงาน คัดเลือกกันเองให้เหลือหน่วยงานหรือองค์กรละหนึ่งคน รวม ๙ คน ทำหน้าที่สรรหากรรมการ ป.ป.จ. ในภารกิจที่ ๒ ต่อไป
             ภารกิจที่ ๒ การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยประกาศรับสมัครจากบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. พิจารณาคัดเลือกไว้เป็นสองเท่าของจำนวนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด แล้วนำรายชื่อจัดทำบัญชีเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดตามจำนวนของแต่ละจังหวัดต่อไป
             ดังนั้นในภารกิจที่ ๑ จะดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ขึ้นมาคณะหนึ่งก่อนในแต่ละจังหวัด โดยดีเดย์ครั้งแรก ประมาณ ๒๐ เมษายน  ในพื้นที่ ๓๒ จังหวัดที่ได้เปิดดำเนินการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมาก่อนแล้ว  และครั้งที่ ๒ ประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ เริ่มในพื้นที่ ๔๔ จังหวัดที่เหลือ  การคัดเลือกคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. จะสรรหาจากผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กร  ในแต่ละจังหวัดรวม ๙ กลุ่มองค์กร ตามที่กฎหมายกำหนดประกอบด้วย
       ๑. สมาคมหรือชมรมครู อาจารย์ หรือสมาคมทางด้านการศึกษา
       ๒. สภาทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
       ๓. สมาคมหรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน
       ๔. สภาหอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด
       ๕. กลุ่มอาสาสมัคร
       ๖. องค์กรเอกชน
       ๗. องค์กรเกษตรกร
       ๘. สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน
       ๙. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด
                 คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.เมื่อผ่านการสรรหาเรียบร้อยแล้ว จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.ในแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินงานในภารกิจที่ ๒ โดย ขั้นแรกคือ ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติ และพฤติการณ์ของผู้สมัครเป็นกรรมการ ป.ป.จ. แต่ละราย ขั้นที่ ๒ คือ พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครกรรมการ ป.ป.จ. ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามซึ่งสมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.จ. ส่งมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งต่อไป
                การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ในแต่ละจังหวัดจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ป.ป.จ. คนหนึ่ง และกรรมการ ป.ป.จ. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ป.ป.จ. ซึ่งการกำหนดจำนวนกรรมการ ป.ป.จ. ในแต่ละจังหวัด ให้คำนวณโดยการนำประชากรในจังหวัดที่มีจำนวนประชากรสูงสุดยกเว้นกรุงเทพมหานครมาหารด้วยสอง ได้จำนวนเท่าใดให้ใช้เป็นฐานในการคำนวณ จังหวัดใดมีจำนวนประชากรตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไปของจำนวนประชากรที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ ให้จังหวัดนั้นมีกรรมการ ป.ป.จ. จำนวนห้าคน จังหวัดใดมีจำนวนประชากรน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของฐานในการคำนวณ ให้จังหวัดนั้นมีกรรมการ ป.ป.จ. จำนวนสามคน
                การสรรหาคนดีในพื้นที่มาเป็นกรรมการ ป.ป.จ. ในแต่ละจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะกรรมการ ป.ป.จ. มีบทบาทในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับประชาชนและส่วนราชการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริต อันเป็นการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับพื้นที่
                ผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.จ. ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
             คุณสมบัติ
(๑) เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๒) มีความรู้ความสามารถและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๓) มีสัญชาติไทย
(๔) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
(๕) รับหรือเคยรับราชการในระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือเป็นผู้ซึ่งองค์การพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองและปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีโดยองค์การพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพให้การรับรอง
            ไม่มีลักษณะต้องห้าม
(๑) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๒) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๓) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้ว่าคดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษหรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ
(๗) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๘) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด
               กรรมการ ป.ป.จ.ในแต่ละจังหวัดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและผ่านกระบวนการสรรหาเรียบร้อยแล้ว จะต้องปฏิบัติงานที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนั้น ๆ  และมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ ไม่ว่าในจังหวัดใด  สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.จ. ดังกล่าวมีสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าตอบแทนรายเดือน ในตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.จ. เดือนละ ๕๗,๖๕๐ บาท ตำแหน่งกรรมการ ป.ป.จ. เดือนละ ๔๗,๒๔๐ บาท
(๒) บำเหน็จตอบแทน
(๓) การประกันสุขภาพ
(๔) ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(๕) มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
              อนึ่งเพื่อให้ได้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่มีคุณสมบัติถูกต้องและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครให้แก่สื่อมวลชนในจังหวัดดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หากเห็นว่าเป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสมขอให้รีบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและพฤติการณ์ให้สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดทราบผ่านทางเว็บไซต์ ไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด 
             
 


             ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช.ทุกท่านในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจหรือประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในการค้นหาคนดีในพื้นที่มาเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. และกรรมการ ป.ป.จ. ได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช.ได้คนดีในพื้นที่มาเป็นกรรมการ ป.ป.จ.ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ที่จะเร่งระดมปูพรมกำจัดการทุจริตอย่างครบวงจรต่อไป
              นายสมพล กาญจนโสภณ รกท.ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี  เปิดเผยว่า ทางสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี จะเริ่มกระบวนการสรรหา ตั้งแต่  วันที่ 20 เมายน 2556 เป็นต้นไป สำนักงาน ป.ป.ช ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี จึงขอประชาสัมพันธ์การคัดเลือก คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. และ การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. มาให้ทราบในเบื้องต้นก่อน  หากข่าวสารสำนักงาน ป.ป.ช. มีความคืบหน้าในรายละเอียดต่าง ๆ จะนำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

นางสาววรรณภา เวทย์ธัญญาภรณ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี โทร ๐๓๕-๕๑๑๑๗๘-๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น