วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556




ลักษณะคุณสมบัติและการดำเนินการของหน่วยงานหรือองค์กรที่สามารถขอขึ้นทะเบียนได้

๑.   หน่วยงานหรือองค์กรที่ขอขึ้นทะเบียน ต้องเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีลักษณะตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๕ ข้อ ๒๐

                 (๑) สมาคมหรือชมรมครู อาจารย์ หรือสมาคมทางด้านการศึกษา
                       หมายความถึง สมาคมหรือชมรมซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษา
                 (๒) สภาทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
                       หมายความถึง สภาทนายความหรือสภาทนายความจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยทนายความหรือองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอื่น
                 (๓) สมาคมหรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน
                       หมายความถึง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
หรือสภาแรงงานหรือสหภาพแรงงงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือสมาคมหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนชองพนักงานหรือลูกจ้างที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน หรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในการคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างของลูกจ้าง
                  (๔) สภาหอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด
                       หมายความถึง หอการค้าจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานสาขาในจังหวัดหรือกลุ่มอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือกลุ่มธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์และสาขาของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
                   (๕) กลุ่มอาสาสมัคร
                       หมายความถึง กลุ่มบุคคลหรือมูลนิธิที่สมัครใจอาสาเข้ามาทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมหรือผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนหรือสิ่งอื่นใด
                    (๖) องค์กรเอกชน
                         หมายความถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานพัฒนาสังคมโดยเน้นการพัฒนาคนและการมีส่วนร่วมของประชาชน จะเป็นองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ และในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องมีการจัดองค์กรเป็นคณะบุคคลขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการดำเนินกิจการอย่างมีระเบียบแบบแผนตามสมควร ซึ่งดำเนินงานโดยอิสระ มีกิจกรรมต่อเนื่องและไม่แสวงหาผลประโยชน์
                    (๗) องค์กรเกษตรกร
                           หมายความถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร เช่น การเสนอนโยบายและแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกร รวมทั้งราคาผลผลิตทางเกษตรกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่เกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกร

                     (๘) สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน
                          หมายความถึง องค์กรหรือกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือทำน้าที่ในการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีการดำเนินการในลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน
                      (๙) หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด
                         หมายความถึง หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
 
      ๒.   หน่วยงานหรือองค์กรที่ขอขึ้นทะเบียน ต้องเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีคุณสมบัติและการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๕ ข้อ ๒๒
 
                            (๑)    การรวมตัวกันของสมาชิกของหน่วยงานหรือองค์ ต้องเป็นไปเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างต่อเนื่องในจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวข้องกับข้อ ๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือเป็นส่วนราชการประจำจังหวัดตาม (๙)
                             (๒)    ได้รับการรับรองจากทางราชการ หรือมีหลักฐานแสดงสถานภาพของหน่วยงานหรือองค์กร
                             (๓)    หน่วยงานหรือองค์กรตามข้อ ๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) ต้องจัดตั้งหรือดำเนินกิจกรรมมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปีนับถึงวันแจ้งความประสงค์ โดยสามารถนำผลงานหรือรายงานการดำเนินกิจกรรมมาแสดงได้
                             (๔)    หน่วยงานหรือองค์กรตามข้อ ๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) ที่มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลต้องมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดตามจำนวนที่กำหนด ดังต่อไปนี้
 
                                    (ก)    หน่วยงานหรือองค์กรตามข้อ ๑ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๘) ต้องมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐ คน
                                   (ข)    หน่วยงานหรือองค์กรตามข้อ ๑ (๕) (๖) และ (๗) ต้องมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ คน
 หมายเหตุ        (๑) หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามระเบียบข้อ ๒๐ (๙) ไม่ต้องแสดงหลักฐานการจัดตั้งหรือดำเนินกิจกรรมมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
                         (๒)ในกรณีที่หน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีคุณสมบัติตามระเบียบข้อ ๒๐ ได้มากกว่าหนึ่งประเภท ให้หน่วยงานหรือองค์กรนั้นแจ้งความประสงค์การขอขึ้นทะเบียนได้เพียงประเภทเดียว
 
 
หลักฐานที่ใช้ในการขอขึ้นทะเบียน
 ๑.     หน่วยงานหรือองค์กรตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๕ ข้อ ๒๐ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๘) ใช้หลักฐาน ดังนี้
                        ๑. แบบแจ้งความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนและส่งรายชื่อผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กร เพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ. ๓)
                       ๒.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของหัวหน้าหน่วยงานหรือองค์กร และกรณีหัวหน้าหน่วยงานหรือองค์กรมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นแบบแจ้งความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนแทน จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ ตามแบบ ป.ป.จ. ๔ รวมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
                      ๓. หลักฐานที่แสดงถึงวัตถุประสงค์หลักของหน่วยงานหรือองค์กร เช่น หนังสือหรือเอกสารชี้แจงวัตถุประสงค์การดำเนินงาน หรือหนังสือการก่อตั้งหน่วยงานหรือองค์กรซึ่งระบุวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งฯ เป็นต้น
                     ๔. หลักฐานที่แสดงถึงการได้รับการรับรองจากทางราชการหรือหลักฐานแสดงสถานภาพของหน่วยงานหรือองค์กร
                     ๕. หลักฐานแสดงถึงการจัดตั้งหรือดำเนินกิจกรรมมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปีนับถึงวันแจ้งความประสงค์ โดยนำผลงานหรือรายงานการดำเนินกิจกรรมมาแสดง เช่น หนังสือแสดงการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กร หรือเอกสารแสดงผลงานหรือรายงานประจำปี
                        ๖. กรณีหน่วยงานหรือองค์กรที่มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้แนบหลักฐานเพื่อแสดงว่ามีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดตามจำนวนที่ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๕ ข้อ ๒๒ กำหนด
                     ๗.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้แทนเพื่อคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการสรรหา
 
๒.  หน่วยงานหรือองค์กรตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๕ ข้อ ๒๐ (๙) ใช้หลักฐาน ดังนี้
                      ๑.  แบบแจ้งความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนและส่งรายชื่อผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กร เพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ. ๓)
                      ๒.  สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐของหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด
                      ๓.  หลักฐานที่แสดงถึงหลักฐานแสดงสถานภาพของหน่วยงานหรือองค์กร เช่น สำเนาคำสั่งแต่งตั้ง เป็นต้น
                     ๔. กรณีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นแบบแจ้งความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนแทน จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ ตามแบบ ป.ป.จ. ๔ รวมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
                      ๕.  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้แทนเพื่อคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการสรรหา
 
สอบถามและขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี หลังที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ๗๒๐๐๐ โทร.๐๓๕-๕๑๑๑๗๘ / facebook : ป.ป.ช. สุพรรณบุรี
 
 
 
 
 
 

 


 
 
 
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น